วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

อยากรวย


ดร.สุวิทย์ ธนียวัน..อยากรวย ต้องประหยัด

ดร.สุวิทย์ ธนียวัน
"ถ้าอยากรวย ต้องประหยัด!!!" และ "ออมก่อน รวยก่อน!!!" สมการการจัดการเงินทองของ "ดร.สุวิทย์ ธนียวัน"


อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่วันนี้ เขาพูดได้อย่างเต็มปากว่าความร่ำรวยที่เกิดขึ้น  มาจากนิสัยประหยัด และการใช้ชีวิตสมถะของเขา
"บ้านเราจนมาก่อน มาจากเมืองจีน ไม่มีอะไรเลย  วันไหนที่เรารู้สึกลำบากหรือแย่กับปัญหาที่เกิดขึ้น  พอย้อนกลับไปมองชีวิตลำบากแบบเดิมๆ แล้วรู้สึกว่าเราปัญหานิดหน่อยเอง  ผมอยู่กับความประหยัดมาตลอดชีวิต  ตอนอายุ  22 ได้ทุนไปอเมริกา ไม่เคยเดินทางต่างประเทศเลย  แค่นั่งเครื่องบินไปก็กลัว ตอนอยู่อเมริกา 7-8 ปี กลับมามีเงินเก็บ เพราะผมออมก่อนได้เปรียบกว่าคนออมช้า"
ดร.สุวิทย์ ธนียวันนั่นเพราะระหว่างที่เรียน  ดร.สุวิทย์บอกว่า เขาเรียนไปทำงานไป  ทำแม้กระทั่งส่งพิซซ่าตามบ้าน  ใช้ชีวิตอยู่แบบประหยัดตลอด ค่าเล่าเรียนฟรี  มีเงินเดือนนักเรียนทุน  ตอนจบเงินเดือน 800 เหรียญ มีลูกที่นั่น 2 คน  ก็ยังใช้ชีวิตแบบสมถะมาตลอด  พอกลับมาเมืองไทยก็เริ่มทำงาน  แม้จะเงินเดือนไม่เยอะ แต่ก็สะสมเงินเก็บได้ตลอด  เพราะเป็นคนใช้น้อย  และไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
"บ้านผมถูกปลูกฝังให้รู้จักเก็บหอมรอมริบทุกคน บางคนบอกว่าผมขี้เหนียว ไม่เที่ยวเตร่ แต่ผมคิดว่าถ้าเราไม่รู้จักเก็บ เราก็ไม่มีเงิน   ผมจึงรู้สึกว่า ถ้าเราไม่มีไม่ได้ร่ำรวยมาก่อน ก็ต้องอดออมและประหยัด  ตอนผมกลับมาจากเมืองนอกมีเงินกลับประมาณ 1-2 ล้าน  จากวันนั้นถึงวันนี้ ผมยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  สะสมเงินทองมาเรื่อย  จริงๆ ตอนนี้ผมเกษียณได้เลย  คำนวณแล้วบนสมมติฐานที่มีชีวิตอยู่ถึง 85 จากเงินก้อนที่เก็บ  ผมและภรรยาอยู่สบายๆ แน่  แต่ถ้าถึง 100 อาจจะลำบาก  ถึงแม้ผมจะสะสมเงินพอแล้ว แต่ก็ใช้ชีวิตแบบไม่ประมาทนะ"
ดร.สุวิทย์บอกว่า  ชีวิตที่มีเงินทองอย่างทุกวันนี้ เกิดจากการออมแล้วต่อยอดด้วยการลงทุน  เขาเล่าว่าจังหวะที่กลับมาจากต่างประเทศมีเงินก้อนหนึ่ง ซึ่งช่วงนั้นตลาดหุ้นกำลังน่าลงทุนพอดี  จึงตัดสินใจนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุน  ก็มีขาดทุนบ้างกำไรบ้าง  แต่ยึดคติเลือกหุ้นที่ไม่เสี่ยงมาก จากนั้น  การลงทุนในตลาดหุ้นบวกกับเงินเก็บเล็กผสมน้อยอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เงินทองของเขาค่อยๆ เพิ่มขึ้น  จากนั้นจึงออมด้วยการทำประกันชีวิต
"ตอนนั้นก็เริ่มทยอยทำประกัน จนถึงวันที่ครบกำหนดประกัน ก็มานั่งนึกว่า ทำไมเราทำประกันไว้แค่ 4-5 ฉบับเอง น้อยจังเลย  แต่นั่นทำให้ผมรู้ว่าอย่างน้อยการมีกรมธรรม์ 3-4 ใบ ก็พอจะทำให้มีเงินบ้าง"  
เขายังเล่าว่าชีวิตของเขาคลุกคลีมากับการเรียนเศรษฐศาสตร์ พอเริ่มทำงานก็ทำด้านนี้ และสอนหนังสือมาตลอดชีวิต  แต่ก็มีความหลากหลายอยู่ในตัว เพราะบางช่วงก็ไปเป็นที่ปรึกษาด้านมาร์เก็ตติ้ง และทำงานด้านไฟแนนซ์บ้าง 
"ผมว่าแต่ละงานให้ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน  ชีวิตเราก็เคลื่อนไปเรื่อยๆ ผมพอใจชีวิตในแบบที่ไม่ต้องวุ่นวายกับใคร  หลังจากได้ลองงานที่หลากหลายขึ้น  ผมพบว่ามาร์เก็ตติ้งสอนให้คนนิ่งไม่ได้  ต้องคิดตลอด  ต้องชอบและรักจริงๆ  ส่วนงานด้านไฟแนนซ์ทำให้เราเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน แต่เป็นนักวิชาการมากไปหน่อย  ส่วนงานสอนหนังสือ ผมคิดว่าตราบใดที่ยังแข็งแรงอยู่ไม่ว่าจะอายุขนาดไหน ก็จะทำไปเรื่อยๆ มีช่วงหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสทำงานกับนายห้างเทียม โชควัฒนา  ท่านเป็นบุคคลที่มีคำสอนมากมาย ท่านใช้ชีวิตสมถะ  ชอบสอน  สอนด้วยคำคม  เพราะคนรุ่นนั้นเขาพูดคำคมกันเยอะ"
ดร.สุวิทย์บอกว่า  คนเราวางแผนใช้ชีวิตให้มีความสุขและอยู่ห่างจากความเสี่ยงได้   ข้อแนะนำทั่วไปของเขาคือ ต้องรีบวางแผนเกษียณ และอย่าประมาทกับการใช้ชีวิต  ปัจจุบันคนอายุยืนขึ้น  ถ้าเราไม่วางแผนสะสมเงินออมเอาไว้ อนาคตถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยจะลำบากอย่างแน่นอน  ยิ่งถ้าไปเจอปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก  ก็จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
"อายุยิ่งยืน ยิ่งต้องวางแผน  จะใช้ชีวิตอย่างไร้แก่นสารไม่ได้  อายุ 34-35 ต้องเริ่มวางแผนแล้ว เลิกสนุกได้แล้ว  ทำอะไรต้องรีบทำ คนเรามีเวลาจริงๆ  20 ปีสำหรับทำงาน  เริ่มมีแก่นสารตอน 35  จะไปทำอะไรตอนอายุ 50 ไม่ทันแล้ว"
เขาว่า มนุษย์เรามีความเสี่ยงอยู่รอบตัว ฉะนั้นจะประมาทกับการใช้ชีวิตไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านการเงิน  ที่ปัญหาของผู้คนทุกวันนี้คือเก็บออมไม่ได้ คนที่ไม่มีเงินออมก็จะบอกว่าไม่มีอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มี ก็เริ่มต้นทำให้ตัวเองมีเงินออม
"หลายคนที่บ่นว่าออมไม่ได้ ผมว่าง่ายๆ ก็หัดทรมานตัวเองหน่อย กินให้น้อยลง เก็บหอมรอมริบ พยายามไม่อยากมีอะไร สร้างนิสัยประหยัด ตรงนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ชีวิตและสร้างเงินออมได้ในที่สุด เมืองไทยของเรายังดีนะที่มีการออมประมาณ 30% ของจีดีพี ถ้าเทียบกับการออมของคนอเมริกาที่น้อยมาก เวลาเศรษฐกิจไม่ดี คนก็ตกงานกันหมด"
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านอาชีพและด้านการศึกษา   ความเสี่ยงด้านการใช้ชีวิต  ความเสี่ยงด้านอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน  ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงด้านการลงทุนอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถพึ่งผลตอบแทนจากดอกเบี้ยได้อีก ดังนั้น จึงต้องป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน ด้วยการไปลงทุนในตราสารทางการเงินช่องทางอื่นๆ แทน
ขณะเดียวกันความเสี่ยงจากความผันแปรทางเศรษฐกิจ  ก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง เช่นอัตราเงินเฟ้อที่ถ้าสูงมากก็จะทำให้ค่าของเงินในกระเป๋าของเราลดลง ปัญหาคือ ทุกวันนี้ผู้คนไม่ได้จัดการป้องกันความเสี่ยงให้ตัวเองเท่าไร นั่นทำให้ถูกความเสี่ยงจู่โจมอยู่ตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น